เสพศิลป์อย่างเข้าใจ แบบไหนเรียกว่างาม


มีนักวิชาการท่านหนึ่งเคยกล่าวไว้ว่า การจะประเมินคุณค่าความงามของงานศิลปะ ต้องเข้าใจก่อนว่า อะไรคืองานศิลปะ และได้ให้คำนิยามของศิลปะไว้ว่า “ศิลปะคือ รูปแบบที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อมุ่งให้เกิดความงามที่มนุษย์สามารถสัมผัสได้” 

อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์

 
 

อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ศิลปะคือการทำงานที่เกิดจากความรัก ความมุ่งมั่นศรัทธา หลอมรวมออกมาเป็นพลังขับเคลื่อนที่เป็นรูปลิ่มของมนุษย์ในทางสุนทรีย์ภาพ” และ ต้องมีองค์คุณง่าย ๆ 6 ข้อ คือมีความคิดคำนึง มีการแสดงถึงรูปอารมณ์ความสะเ­ทือนใจนั้น ๆ มีท่วงท่าของจิตวิญญาน­ ความปรารถนา อารมณ์ต่าง ๆ หลอมรวมอยู่ในนั้น มีความเป็นปัจเจกของบุคคลผู้สร้างทำ มีความประสานกลมกลืน และข้อสุดท้ายข้อที่ 6 เป็นสุดยอดของเทคนิค ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะด้านใดก็ตาม ถ้าประกอบด้วยองค์คุณทั้ง 6 ประการ ถึงจะเรียกว่าเป็นศิลปะ


 
 

คำพูดของนักวิชาการกับคำพูดของศิลปิน ถึงแม้จะเป็นคำอธิบายที่สั้น กระชับ แต่ก็อาจจะยังทำให้ใครอีกหลายคน เข้าใจได้ยากอยู่ดีเพราะความงามของงานศิลปะตามประสาชาวบ้าน “เมื่อเห็นว่างามก็คืองาม” “เมื่อพึงพอใจก็คืองาม” “เมื่อถูกจริตนั่นยิ่งงามกว่า”

 
pic-04.png
pic-05.png
 
 

Walter Benjamin นักปรัชญาชาวเยอรมัน บอกว่า “ไม่มีกวีนิพนธ์บทใดจำเป็นสำหรับผู้อ่าน ไม่มีจิตรกรรมชิ้นใดจำเป็นสำหรับผู้ดู ไม่มีซิมโฟนีบทใดจำเป็นสำหรับผู้ฟัง” แน่ะ .... ยิ่งฟังดูเข้าใจยากกันไปใหญ่

 

เรื่องนี้อยู่ที่คนส่งสาส์น

ให้เราลองนึกว่า ศิลปินคือผู้ส่งสาส์น การส่งสาส์นจะสำเร็จได้สาส์นนั้น ต้องเตะใจผู้รับ และการตีความในสาส์นนั้นจึงถือเป็นเรื่องสนุก การเสพงานศิลปะก็เช่นกัน เรามักพบปัญหาหนึ่งที่มักจะพูดกันเสมอว่า การดูงานศิลปะให้เข้าใจนั้นมันยาก เมื่อขาดความเข้าใจแล้วเราจะมองอย่างไรว่าสิ่งที่เรากำลังเห็น กำลังสัมผัสอยู่ตรงหน้า คือความสวยงามตามอย่างที่ศิลปินต้องการจะสื่อ ในความเป็นจริงแล้วการที่เราจะต้องพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งถือว่ายากด้วยกันทั้งหมด แต่ถ้าเปลี่ยนจากการพยายามที่จะเข้าใจเป็นการตีความตามความหมายของศิลปินที่กำลังจะสื่อล่ะ จะง่ายขึ้นมาอีกสักนิดหนึ่งไหม การเสพงานนั้น ๆ จะสนุกขึ้นมาอีกหรือเปล่า

ศิลปินในทางทัศนศิลป์ส่วนใหญ่จะเลือกใช้สัญลักษณ์เพื่อสื่อความหมาย ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่คนส่วนใหญ่ในสังคมสามารถเข้าใจได้ไม่ยาก หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นสากล เช่น ดอกกุหลาบ ใช้แทนความหมายที่สื่อถึงความรัก ดอกมะลิ ใช้แทนความหมายที่สื่อถึงแม่ สีดำใช้แทนความหมายที่สื่อถึงความระทมทุกข์ ศิลปินบางท่านอาจจะใช้สีเพื่อสื่อถึงอารมณ์บางช่วงเวลา สัญลักษณ์เหล่านี้ถือเป็นการท้าทายของคนอ่านงานศิลปะ เรียกได้ว่าอาจจะต้องเป็นแฟนคลับ หรือแฟนตัวยงของศิลปินนั้น ๆ กันเลยทีเดียว เพราะยังมีศิลปินอีกหลายท่านที่ใช้สัญลักษณ์ตามอารมณ์ในห้วงขณะหนึ่งของตัวศิลปินเอง อย่างเช่นภาพที่โด่งดังมาก ๆ ภาพนี้ของ ปาโบล รุยส์ ปิกาโซ (Pablo Ruiz Picasso)

 
ภาพ : Boy with a Pip ศิลปิน Pablo Ruiz Picasso

ภาพ : Boy with a Pip ศิลปิน Pablo Ruiz Picasso

 
 

Boy with a Pip ถูกวาดขึ้นในระหว่างปี 1904-1906 เป็นภาพที่วาดด้วยโทนสีที่สดใสเน้นโทนสีส้ม สีชมพู และสีเนื้อ ซึ่งเป็นโทนสีที่ตรงกันข้ามกับยุคสีน้ำเงินของเขา ซึ่งในช่วงปี 1904 เป็นช่วงที่เขากำลังตกหลุมรัก มีความสุขดื่มด่ำในความสัมพันธ์ เรียกได้ว่าโลกนี้กลายเป็นสีชมพูกับคนรักคนแรกของเขาคือ เฟอร์นานเดอ โอริเวียร์ (Fernande Olivier)

เราจะสังเกตเห็นได้ว่า บางครั้งศิลปินบางท่านก็ใช้สัญลักษณ์ตามอำเภอใจ จนการทำความเข้าใจของเราอาจจะต้องสืบลึกไปถึงภูมิหลังของตัวศิลปิน เรียกได้ว่าเกาะติดชีวิตทำตัวเป็นติ่งของศิลปินกันเลยก็ว่าได้

ศิลปะคือสื่อภาษาชนิดหนึ่ง

ถ้าเราเพียงแต่เข้าใจได้ว่า ศิลปะไม่ว่าจะเป็นแขนงไหน จิตรกรรม ประติมากรรม ดนตรี การแสดง ฯลฯ คือการสื่อภาษาชนิดหนึ่ง เราเองก็เป็นเพียงผู้รับสาส์นที่ผู้สร้างงานศิลปะต้องการสื่อออกมาให้เรารับรู้ เขาเป็นผู้เล่า และเราเป็นผู้ฟัง

ฟังจากภาพ จากการใช้เส้น สี แสงที่บรรเลงอยู่ในภาพนั้น ๆ และตีความมันออกมาเป็นภาษาที่เราเข้าใจ แน่นอนค่ะว่าการสื่อภาษาลักษณะนี้ ไม่มีทางที่เราจะตีความออกมาได้เหมือน ๆ กันทุกคน ผิดบ้างถูกบ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าอับอายอะไรนัก เพราะบางครั้งเราก็ไม่มีทางเดาใจศิลปินได้ถูก

 

The Scream ผลงานของ เอ็ดเวิร์ด มุงค์ (Edvard Munch) จิตรกรชาวนอร์เวย์ ที่โด่งดังในการวาดภาพแนวสำแดงพลังอารมณ์ (Expressionism) เป็นศิลปินที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในวงการศิลปินชาวเยอรมัน ซึ่งผลงานของ Munch ส่วนใหญ่จะสะท้อนถึงชีวิตที่พบเจอแต่ความเลวร้าย ปัญหาสังคม และความกังวลของมนุษย์ เขาวาดภาพนี้ด้วยสีสันที่ร้อนแรง ฉูดฉาด ปัดป่ายด้วยวิธีการอย่างง่าย ๆ ในภาพมีมนุษย์ที่ไม่ระบุเพศคนหนึ่งกำลังยืนอยู่บนสะพาน เขากรีดร้อง ยกมือปิดหู ท่ามกลางบรรยากาศวิปริต แปรปรวน ด้านหลังของเขา มีคนสองคนที่กำลังเดินอยู่ห่างออกไป นิ่ง ปกติ เหมือนจะไม่รับรู้ในสิ่งที่มนุษย์คนนั้นวิตกอยู่

ซึ่งจากไดอารี่ส่วนตัวของ Munch ได้บันทึกไว้ว่า ในวันหนึ่งที่เขาเดินเล่นอยู่กับเพื่อนอีกสองคนตอนพระอาทิตย์ตก อยู่ ๆ ท้องฟ้าก็กลายเป็นสีแดง เขาหยุดเดิน เขาช็อก ตกใจมาก ในขณะที่เพื่อนของเขาเดินห่างออกไป แต่ Munch ยืนตัวสั่นด้วยความหวาดกลัว และเหมือนกับว่าเขาจะได้ยินเสียงกรีดร้องของธรรมชาติที่ดังลั่นอยู่เพียงคนเดียว

มีคนตีความภาพนี้ไปต่าง ๆ นา ๆ เลยค่ะว่า Munch กำลังคิดอะไรอยู่ ทั้งนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ ต่างวิเคราะห์ภาพของเขากันอย่างสนุกสนาน ท้องฟ้าสีแดงมาจากเหตุการณ์ไหน ใบหน้าที่บิดเบี้ยวของมนุษย์ในรูปเขาเอาแรงบันดาลใจมาจากอะไร ถึงขนาดสืบค้นไปยังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลก การตีความจากความหมายในภาพ มันน่าสนุกอย่างนี้นี่เอง

 
ภาพ : The Scream ศิลปิน Edvard Munch

ภาพ : The Scream ศิลปิน Edvard Munch

ศิลปะไม่ต้องการความเข้าใจเสมอไป

แค่รู้สึก หรือมีอารมณ์ร่วมไปกับงานศิลปะนั้น ๆ ได้ คุณก็จะมีความสุขกับมันแล้ว ศิลปะนามธรรม (Abstract Art) ที่ใช้ภาษาภาพในการสื่อความหมายด้วย สี และลายเส้น ทำเอาหลายต่อหลายคนงงงันกับงานศิลปะในลักษณะนี้ จนเป็นคำถามยอดฮิตติดหูมานานปีว่า “นี่มันภาพอะไรกันนะ” “ป้าย ๆ ปาด ๆ คือสวยแล้วเหรอ” ยิ่งพอทราบราคาของภาพนั้น ๆ ที่โด่งดังไปทั่วโลก หลายคนถึงกับตะลึงไปตาม ๆ กัน

ภาพ : Interchange ศิลปิน Willem de Kooning

ภาพ : Interchange ศิลปิน Willem de Kooning

 
 

Interchange เป็นภาพวาดสีน้ำมันบนผ้าใบของ วิลเลิม เดอ โกนิง (Willem de Kooning ) จิตรกรชาวดัตช์ – อเมริกัน เป็นภาพภูมิทัศน์ที่เป็นนามธรรม เขาวาดภาพนี้เสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1955 หลังจากที่ได้ประกาศจุดยืนของเขาอย่างชัดเจนในปี ค.ศ. 1951 ว่า “จิตรกรรมคือ การระบายสี เป็นวิถีทางของชีวิต เป็นรูปแบบหนึ่ง” ภาพวาดแนว Abstract ภาพนี้แสดงถึงความจริงอันน่ารังเกียจของสังคมสมัยใหม่ เขาว่าอย่างนั้น และถูกซื้อไปโดย KEN GRIFFIN ผู้ก่อตั้งกองทุนป้องกันความเสี่ยง Citadel ในราคา 300 ล้านเหรียญ โด่งดัง และอื้ออึงกันไปทั่วโลกเลยทีเดียว

บางครั้งสาส์นที่ส่งออกมา มันก็ไม่จำเป็นที่ต้องส่งถึงใจผู้รับทุกคนหรอกค่ะ สาส์นบางสาส์นอาจะแตะใจใครบางคนเพียงเท่านั้น หรืออาจจะไม่แตะใจใครเลย แต่ที่แน่ ๆ นั่นคือสิ่งที่ศิลปินต้องการจะสื่อโดยไม่ได้คาดหวังว่าใครจะเข้าใจอย่างถ่องแท้ 

 

ลางเนื้อชอบลางยา “ของสิ่งเดียวกัน ถูกกับคนหนึ่ง แต่ไม่ถูกกับอีกคนหนึ่ง” การเสพงานศิลปะไม่มีผิดไม่มีถูก แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนก็คือว่า เราจะได้เห็นความงาม ความมุ่งหมายที่แน่นอน และความคิดสร้างสรรค์ ที่ศิลปินสร้างขึ้นเพื่อแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก ให้เราได้ศึกษา ขบคิด และใช้จินตนาการของเราเองให้ได้ร่วมรู้สึกไปกับงานชิ้นสร้างสรรค์ชิ้นนั้น

เสพศิลป์ให้เข้าใจ แบบไหนก็ว่างาม


เรื่อง : Alin Thongprasom

ภาพ : ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

ขอบคุณข้อมูล : วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี และเทปสัมภาษณ์อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี
งานเสวนาเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่2 ณ หอประชุมมหิศร ไทยพาณิชย์ รัชโยธิน
11 พ.ย. 2552

Art 101Yossiri Baisri